บ้านสไตล์ญี่ปุ่น คือ แบบบ้านที่มีความโดดเด่นทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น การตกแต่งทั้งภายใน และภายนอกจะมีความเรียบง่าย โปร่งสบาย ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ และเน้นพื้นที่ใช้สอยที่เป็นสัดส่วน ดังนั้นถึงแม้ว่าพื้นที่ ของตัวบ้านจะไม่ได้ใหญ่มาก ไม่ได้มีพื้นที่ใช้สอยเยอะแยะมากมาย แต่หากมีการตกแต่งตาม แบบบ้านสไตล์ญี่ปุ่นก็สามารถ ทำให้อยู่สบาย และพักผ่อนอย่างเต็มที่ได้
บ้านสไตล์ญี่ปุ่น
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ แบบบ้านญี่ปุ่น กลายเป็นหนึ่งแบบบ้านที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยเองก็จะเห็นว่ามีผู้พัฒนานำแบบบ้านสไตล์ญี่ปุ่นไปใช้ในการจัดสรรโครงการ ตลอดจนการตกแต่ง รีโนเวทบ้านของคนไทยที่ก็นิยมจัดให้เป็นสไตล์ญี่ปุ่นเช่นกัน
แบที่ 1 บ้านสองชั้นสไตล์ญี่ปุ่น
ฉันอยากให้ลูก ๆ ได้สัมผัสดินและเติบโตขึ้นในขณะที่รู้สึกถึงฤดูกาลทั้งสี่” หนึ่งในเจตน์จำนงของเจ้าของบ้านที่สร้างภาพของบ้านในฝันเอาไว้ในใจ และส่งต่อความคิดนี้ให้นักออกแบบ hidamari home สร้างออกมาเป็นรูปเป็นร่าง
ซึ่งทีมงานมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบภายนอกในอารมณ์แบบบ้านญี่ปุ่นสมัยเก่า แต่ผสมผสานทั้งรูปลักษณ์และฟังก์ชันใหม่เข้าด้วยกัน ตัวอาคารพยายามสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม และใส่ช่องเปิดขนาดใหญ่เพื่อดึงความเขียวขจีให้เข้ากับบ้าน ให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติตั้งแต่หน้าบ้านถึงข้างใน
บ้านที่ตั้งใจให้ใกล้ชิดธรรมชาติ บ้านสองชั้นพื้นที่ใช้สอย 280 ตารางเมตร สำหรับครอบครัวเล็ก ๆ 3 คนพ่อแม่ลูก เจ้าของเลือกที่ดินนี้เพราะชอบต้นไม้เขียวชอุ่มในบริเวณใกล้เคียง นักออกแบบเน้นใส่ “ความสะดวกสบาย” และ “ใช้งานง่าย” แต่ไม่ละทิ้งตัวตนแบบญี่ปุ่น
โดยดีไซน์รูปแบบของอาคารให้ด้านหน้าของชั้นล่างหลังคาไหลลู่ลง มีสวนที่ปลูกต้น Konara, Aodamo และ Lemon ลานกรวด บันไดหิน และงานไม้ ทำให้เกิดความสงบของบ้านญี่ปุ่นที่ตอบสนองความปรารถนาของทั้งคู่ และเพิ่มความสนุกสนานเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันในจุดที่ทุกคนใช้งานร่วมกัน
ภายในเชื่อมต่อมีครัวเป็นศูนย์กลาง ภายในบ้านชั้นล่างจัดวางให้โล่งไม่มีผนังกั้น เพื่อให้การใช้งานไหลลื่นสามารถเคลื่อนไหวไปรอบ ๆ บ้านได้ง่าย โดยมีศูนย์กลางที่ห้องครัว แล้วขยับออกไปเป็นห้องทานอาหาร และห้องนั่งเล่นที่เชื่อมต่อกันหมด เพื่อให้การใช้ชีวิตทุกวันเป็นเรื่องง่าย
สำหรับวัสดุในการสร้างและตกแต่งบ้านเน้นใช้งานไม้เป็นส่วนใหญ่ พื้นบ้านทำจากไม้ฮิโนกิที่เป็นไม้เนื้อแข็งมีกลิ่นหอม เหมือนบ้านกำลังได้รับการปลอบประโลมด้วยพื้นผิวที่อ่อนนุ่ม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของวัสดุธรรมชาติ แทนที่จะติดผ้าม่านที่ด้านบนของวงกบหน้าต่าง นักออกแบบกลับเจาะเพดานขึ้นไปให้สูงอีกนิดแล้วแขวนม่านจากกล่องผ้าม่านที่ทำให้ห้องดูกว้างและสูงขึ้น
ฉันอยากอยู่ในบ้านที่สัมผัสได้ถึงธรรมชาติ ดังนั้นจึงวางแผนการจัดวางประตูหน้าต่าง เพื่อให้มองเห็นสีเขียวได้จากทุกที่ มุมที่สะดวกสบายที่สุดคือ ห้องรับประทานอาหาร ฉันรู้สึกสบายใจมากเมื่อได้ทานอาหารไปด้วยในขณะที่ชมทิวทัศน์ของต้นไม้จากสวนไม้เบญจพรรณทางด้านทิศเหนือ และรับแสงอ่อน ๆ ผ่านกระจกเข้ามา” เจ้าของบ้านอธิบาย และนั่นคือที่มาของการทำผนังและประตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่ วิธีนี้จะทำให้รู้สึกได้ถึงการขยายของบ้านออกไป และการเพิ่มอิสระทางสายตาที่ไม่สิ้นสุด
ครัวที่มองเห็นธรรมชาติในทุกฤดู ห้องครัวเล็กกะทัดรัดกรุกระเบื้องสีขาวมีขอบบนผนังที่ใช้งานได้และดูทันสมัย สถาปนิกอยากจะรวมเครื่องมือทำครัวที่ใช้งานเป็นประจำเอาไว้ด้วยกัน อย่างเช่น เขียงและเครื่องปรุงรส ไปจนถึงราวแขวนเครื่องครัวติดผนัง เพื่อให้สามารถใช้เครื่องมือในครัวได้อย่างรวดเร็ว
ในขณะที่ยังมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่วนเคาน์เตอร์ล้างและเตามีสองเหตุผลที่ออกแบบให้หันหน้าเข้าหากำแพง คือ แม่บ้านอยากทำอาหารในขณะที่มองไปที่สวนมองเห็นเด็ก ๆ วิ่งเล่นได้ และหากหันหน้าออกไปในบ้านห้องครัวจะมีระยะห่างจากโซฟาใกล้เกินไป อาจทำให้กลิ่น ควันรบกวน และน้ำกระเซ็นได้
บริหารพื้นที่ให้บ้านเล็กดูกว้างได้ พื้นที่ห้องนั่งเล่นจะดูแคบลงทันทีหากต้องมีชั้นวางทีวีเพิ่ม นักออกแบบจึงใช้วิธีการบริการพื้นที่โดยทำที่วางทีวีรวมเข้าไว้กับขั้นแรกของบันได ซึ่งนอกจากวางทีวี เครื่องเสียงแล้ว ความสูงของขั้นบันไดยังพอดีสำหรับให้เด็กนั่งเล่นของเล่นด้วย ตรงนี้จะมีประตูกระจกเชื่อมพื้นห้องนั่งเล่นกับพื้นชานไม้ทำให้รู้สึกกว้างกว่าพื้นที่จริง “ฉันคิดว่าสักวันหนึ่งจะออกไปทำพิซซ่าหรือบาร์บีคิวในสวนได้” เจ้าของบ้านพูดด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้น
ห้องทำงานบนชั้น 2 ไม่ใช่ห้องส่วนตัว แต่เป็นพื้นที่เปิดโล่ง ให้เจ้าของบ้านรู้สึกได้ถึงความโล่งเพราะมีที่ว่าง “เราไม่ได้ทำห้องแบบญี่ปุ่นที่ชั้นหนึ่งดังนั้นฉันจึงอยากได้เสื่อทาทามิที่ไหนสักแห่ง เลยตัดสินใจปูเสื่อทาทามิในห้องนี้” ญี่ปุ่นสมัยใหม่
สำหรับห้องสุขาที่มักมีคราบสกปรกน่าเป็นห่วง ควรใช้กระเบื้องที่มีผิวหยาบไม่ลื่นเพื่อให้สะดวกในการทำความสะอาด อย่างไรก็ตามเมื่อเราเหยียบพื้นกระเบื้องจะรู้สึกเย็นเท้าในฤดูหนาวจึงเลือกปูเฉพาะส่วนที่สกปรกง่ายด้วยกระเบื้องและปูด้วยไม้ในจุดที่แห้งทำให้ห้องน้ำตอบโจทย์การใช้งานได้ดี
เทรนด์การออกแบบสำหรับห้องน้ำในปีหลัง ๆ นี้จะเน้นการเพิ่มความโปร่ง ผ่อนคลาย และเป็นธรรมชาติ แม้จะมีสเปซเพียงเล็ก ๆ ก็ตาม เริ่มตั้งแต่การตกแต่งโดยใช้สีกลาง ๆ น้อย ๆ เรียบง่าย อย่างสีขาว ครีม หรือโทนสีอ่อน ให้พื้นที่ดูกว้างขึ้น ใส่ช่องแสงแนวตั้งสูงจากพื้นถึงเพดาน หรือช่องแสงแนวนอนแบบผลักให้รับแสงและระบายอากาศ เติมม้านั่งไม้เก๋ ๆ สักตัว เพิ่มความสดชื่นจากต้นไม้ต้นเล็ก ๆ เขียว ๆ เท่านี้ก็รู้สึกได้ถึงความแตกต่าง
แบบที่ 2 บ้านสไตล์ญี่ปุ่นสงบสบายในไร่ส้ม
บ้านสวยในไร่ส้ม เราเชื่อว่าคงมีหลายคนที่ยังชมชอบสไตล์การสร้างบ้านแบบญี่ปุ่นที่ดูเรียบง่ายสุดๆ และเป็นธรรมชาติโปร่งสบาย ซึ่งขณะนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งบ้านเราและเพื่อนบ้านอย่างประเทศเวียดนามด้วย ทำให้เราได้เห็นโปรเจ็คบ้านที่ชวนให้ตกหลุมรักมากมาย
บ้านหลังนี้ก็เช่นเดียวกัน สถาปนิกได้ใส่จิตวิญญาณของสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมผสมผสานกับความทันสมัย พร้อมรังสรรคฺการออกแบบภายในที่เหมาะสมกับสภาพอากาศและไลฟ์สไตล์ของชาวเวียดนาม สำหรับใครที่ชอบบ้านญี่ปุ่นต้องแวะดูบ้านหลังนี้ รับรองว่าไม่ผิดหวัง
Mikan Village เป็นวิลล่าบนที่ดิน 500 ตร.ม. ในหมู่บ้าน Quyt, Yen Bai, Ba Vi ประเทศเวียดนามของคู่รักหนุ่มสาวที่ตั้งใจซื้อที่ดินสร้างบ้านบนเนินในเขตชานเมืองสำหรับพักผ่อน และพาพ่อแม่มานอนเล่นปลูกผักทุกสุดสัปดาห์ สถาปนิกออกแบบบ้านตามความชอบของเจ้าของในสไตล์ญี่ปุ่น จัดแผนผังให้เหมาะสมกับภูมิประเทศ หันหลังให้ถนนทำให้เจ้าของบ้านได้ “หลีกหนีจากถนน” และมีความใกล้กับธรรมชาติของ Ba Vi ได้บ้านที่ออกมาสวยท่ามกลางวิวทิวเขา มีลมพัดเย็นสบายทุกมุม
Mikan หมายถึง ส้มเขียวหวานในภาษาญี่ปุ่น เพราะบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในไร่ส้มเขียวหวาน ฟอร์มของบ้านแบบชั้นครึ่งช่วยให้อาคารไม่ถูกกลืนหายกลางพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่ยังอบอุ่นและสร้างความรู้สึกปลอดภัยเมื่อมีเพื่อนบ้าน พื้นที่ก่อสร้างทั้งหมด 164 ตร.ม. (82 ตร.ม. ต่อยูนิต)
ตัวบ้านแบ่งเป็นสองส่วนดูเหมือนบ้านแฝด ประกอบด้วยห้องนอน 2 ห้องบนและล่าง ครัว และห้องนั่งเล่น พร้อมสระแช่ตัวสำหรับเด็กๆ ที่อยู่ระหว่างกลาง รอบบ้านล้อมรอบด้วยเฉลียงขนาดใหญ่ ชวนให้เจ้าของบ้านออกมานั่งจิบชาอุ่น ๆ ยามเช้า พร้อมชมภูเขาและก้อนเมฆที่ค่อย ๆ เคลื่อนลอยไปได้ทั้งวัน
จากภายนอกจะเห็นว่า บ้าน เต็มไปด้วยช่องแสงช่องลม ที่พยายามยึดรูปแบบเช่นเดียวกับอาคารสไตล์ญี่ปุ่น เช่น หน้าต่างกรอบไม้ ประตูโชจิ และประตูบานเลื่อนเป็นจำนวนมาก ซึ่งดูเผิน ๆ จะคล้ายประตูดั้งเดิมแต่ในความเป็นจริงจะเลือกใช้วัสดุใหม่ๆ ที่มีความทนทานขึ้น เช่น วัสดุโปร่งแสง และระบบประตูบานเลื่อนนำเข้า hafele damping accessory rail เป็นต้น
ประตูหน้าต่างขนาดใหญ่เหล่านี้ช่วยเพิ่มพื้นที่เปิดโล่งให้ลมและวิวธรรมชาติเข้ามาในบ้าน ตัวกระจกเป็นรุ่นกันความร้อนช่วยให้พื้นที่ได้รับแสงได้แต่ไม่ร้อนจึงช่วยประหยัดไฟฟ้าไปในตัว พื้นที่หลักในบ้านคือ ห้องนั่งเล่นและห้องครัว ซึ่งจัดแปลนแบบเปิด open plan ทำหน้าที่ดึงสมาชิกในครอบครัวให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ในขณะเดียวที่ทุกคนในครอบครัวมาอยู่รวมกันกลับไม่รู้สึกถึงความวุ่นวายพลุกพล่าน
เพราะการตกแต่งบ้านน้อย ๆ การเลือกวัสดุก็มีส่วนทำให้บ้านรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย อาทิ การใช้เฟอร์นิเจอร์วัสดุไม้เป็นหลัก งานผ้าสีครีมกลางๆ รวมถึงการจัดภูมิทัศน์จำลองสวนญี่ปุ่นขนาดเล็กที่มีก้อนกรวดธรรมชาติ อ่างหิน เสียงน้ำรินจากก๊อกน้ำไม้ไผ่ ช่วยสร้างบรรยากาศและนำธรรมชาติเข้ามาในบ้าน และเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่เพิ่มความรู้สึกสงบนิ่งขึ้นภายใน
ห้องนอนใหญ่ตั้งอยู่ที่ชั้นล่าง โดยมีหน้าต่างกระจกกรอบไม้ขนาดใหญ่ที่เปิดออกให้มองเห็นสระแช่ตัวด้านนอก ด้านนอกมีแถวทิวไม้ไผ่ที่ปลูกข้างประตูห้องนอนมีลักษณะเหมือนรูปภาพและมีความหมาย เป็นการบ้านสร้างตามหลักฮวงจุ้ย ที่มีความเชื่อว่าหน้าบ้านและหลังบ้านด้วยไม้ไผ่เป็นมงคล เนื่องจากต้นไม้นี้เป็นสัญลักษณ์ของความเรียว ความสง่างาม ความก้าวหน้า ความมุ่งมั่นมั่นคง และซื่อตรง จะนำความดีงามมาสู่ทั้งครอบครัว
ห้องน้ำตกแต่งโทนขาวดำตัดด้วยกรอบไม้ ที่ใส่ลูกเส้นของเส้นสายเรขาคณิตเอาไว้โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นซุ้มประตูโค้งๆ หน้าต่างทรงกลมและสี่เหลี่ยม นอกจากนั้นยังมี skylight ที่เพิ่มช่องทางรับแสงและวิวท้องฟ้าข้างบนด้วย วันที่แดดอออกลองมาแช่ตัวในน้ำอุ่น พร้อมเก็บวิวรอบ ๆ ตัว เพิ่มประสบการณ์ในวัยสบายแบบเซ็กซี่เล็ก ๆ บ้านหรู ที่หาไม่ได้จากที่ไหน ๆ รู้สึกราวกับได้อยู่บ้านพักตากอากาศหรูในทุกวัน
ประเทศเวียดนามมีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นคล้ายกับบ้านเรา แต่ในบางโซนของประเทศโดยเฉพาะในย่านชานเมืองที่รายล้อมด้วยทิวขาและต้นไม้สภาพอากาศจะหนาวเย็นในฤดูหนาว บ้านจึงจำเป็นต้องรับมือได้ทั้งความร้อนและเย็น สถาปนิกเลือกใช้กระจกทนความร้อนคุณภาพสูง เพื่อรับแสงธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้าน และแก้ปัญหาในการรักษาอุณหภูมิในบ้านให้เย็นในฤดูร้อน
ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ในวันที่อุณหภูมิไม่สูงเกินไป โดยเจ้าของบ้านไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ ผนังใช้อิฐมวลเบาที่มีคุณสมบัติในการลดเสียงรบกวนได้และเพิ่มความอบอุ่นในฤดูหนาว เป็นต้น